วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
วัดหัวกระบือ
โคลงนิราศนรินทร์บทนี้ เป็นบทที่มี “ เสียงกวี” โอ่อ่าที่สุดอีกบทหนึ่งซึ่งเป็นที่ยกย่องอย่างสูง นายนรินทรธิเบศร์ เดิมชื่อ อิน รับ ราชการเป็นมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพรมี บรรดาศักดิ์เป็นนายนรินทรธิเบศร์ แต่งหนังสือโคลงเล่มนี้เมื่อคราวตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เสด็จยกกองทัพหลวงไปปราบพม่าข้าศึกซึ่งยกลงมาตีเมืองถลางและเมืองชุมแพร เมื่อต้นรัชกาลที่๒ ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๕๒ โดยเส้นทางน้ำเข้าคลองด่านแล้วผ่านย่าน “ หัวกระบือ” ปัจจุบันนี้บ้านหัวกระบือมีคลองหัวกระบือและวัดศีรษะกระบือ (แต่ชาวบ้านยังคงเรียกวัดหัวกระบือ)อยู่ในแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ มีทางแยกจากถนนสายธนบุรี-ปากท่อตรงกิโลเมตรที่ ๗ ไปชายทะเลบางขุนเทียนผ่านเข้าบ้านหัวกระบือได้สะดวก นอกจากโคลงนิราศนรินทร์แล้ว ยังมีโคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย ของพระยาตรัง กล่าวถึงอีกดังนี้
งามเงื่อนสุวภาพสร้อย สาวโสมบูรณเอย
เศียรกระบือระบือนาม แนะด้าว
ไฉนนุชลบฤาโฉม เฉลิมโลกีย์
เฉกเฉนงเสี่ยวไส้ย้าว ยอกทรวง
(พระยาตรัง)
เมื่อสุนทรภู่ลอยเรือเข้าคลองด่านจะไปเมืองเพชรบุรี ครั้นผ่านย่านหัวกระบือจึงเขียนนิราศเมืองเพชรไว้ตอนหนึ่งว่า
ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อบ้าน ระยะย่านยุงชุมรุมข่มเหง
ทั้งกุมภากล้าหาญเขาพานเกรง ให้วังเวงวิญญาณ์เอกากาย
ถึงศิษย์หามาตามเมื่อยามเปลี่ยว เหมือนมาเดี่ยวแดนไพรน่าใจหาย
ถึงศีรษะละหารเป็นย่านร้าย ข้ามฝั่งซ้ายแสมดำเขาทำฟืน
(สุนทรภู่)
“ วรรคสุดท้ายที่ว่า ข้ามฝั่งซ้ายแสมดำเขาทำฟืน” นั้นทุกวันนี้มีบ้านแสมดำอยู่ทัดจากปากคลองหัวกระบือลงไป นอกจากนี้นิราศแท่นดงรังสำนวนสามเณรกลั่น(ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๖) ยังกล่าวถึงหัวกระบือว่า
ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อย่าน บิดาท่านโปรดเกล้าฯ เล่าแถลง
ว่าพญาพาลีซึ่งมีแรง เข้ารบแผลงฤทธิ์ต่อด้วยทรพี
ตัดศีรษะกระบือแล้วถือขว้าง ปลิวมากลางเวหาพนาศรี
มาตกลงตรงย่านที่บ้านนี้ จึงเรียกศีรษะกระบือเป็นชื่อนาม
(นิราศเณรกลั่น)
เมื่อพิจารณาโคลงนิราศนรินทร์ และกลอนนิราศสามเณรกลั่นจะเห็นที่มาของชื่อย่าน “ หัวกระบือ ” นั้นมีความหมายสอดคล้องกันว่าเกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ ตอนปราบทรพี แล้วพาลีตัดหัว(ควาย) ทรพีขว้างไปตรงที่ย่านหัวกระบือนี้ ดังนั้นจึงมีชื่อว่าหัวกระบือ แต่ภายหลังกันเรียกว่าศีรษะกระบือ แต่ตำนานการสร้างวัดศีรษะกระบือที่เอกสารของกรมการศาสนา(๒๕๒๖)บันทึกจากปากคำของชาววัดและชาวบ้านนั้นมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับขุนช้างขุนแผนช่วงต้น ๆ เรื่องที่ว่าสมเด็จพระพันวษาโปรดประพาสป่าล่าควายป่า และบรรดาควายป่าถูกขุนไกรซึ่งเป็นบิดาของพลายแก้ว(ขุนแผน) ฆ่าตัดหัวลงเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระพันวษาจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้นไว้แล้วให้ชื่อว่าวัดหัวกระบือหรือศีรษะกระบือ
จากลักษณะนิทานประจำถิ่นที่แตกต่างกันนี้ จะเห็นว่านิทานที่เกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์นั้นพยายามจะบอกความเป็นมาของ บ้านหรือหมู่บ้านในย่านนั้นๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นแต่นิทานที่เกี่ยวข้อง นั้น คือ ขุนช้าง ขุนแผน บอกมูลเหตุการสร้างวัด อันน่าจะเกิดขึ้นมาคราวหลังมาแล้ว ย่านหัวกระบือมีคลองหัวกระบือแยกออกไปจากเส้นทางคลองด่านหรือคลองสนามชัยที่ ต่อเนื่องเป็นคลองมหาชัย ทุกวันนี้จึงดูราวกับว่าคลองหัวกระบือเป็นทางนำสาขาของคลองด่าน เกี่ยวกับคลองหัวกระบือนี้ อาจารย์ทิวา ศุภจรรยา รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าเมื่อตรวจมณฑลแผนที่กรุงเทพฯสมัย ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) แล้วปรากฏว่าทั้งคลองด่าน คลองสนามชัยและคลองวัดหัวกระบือเป็นคลองเดียวกันและต่อเนื่องกันลงไปทางทิศใต้ และมีลักษณะภูมิประเทศและเส้นทางน้ำที่เป็นหลักฐานให้เชื่อว่าเป็นเส้นทางน้ำเก่าที่ติดต่อทะเลได้ ฝั่งทะเลในอดีตจะอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดินแถว ๆ ปลายคลองหัวกระบือปัจจุบันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านลูกวัว และเมื่อชายฝั่งทะเลลดลงมาที่ตำแหน่งปัจจุบัน จึงได้มีการขุดคลองขุดราชพินิจใจต่อจากคลองหัวกระบือติดต่อกับทะเล แต่ในรายละเอียดที่จะให้ทราบว่าฝั่งทะเลที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินตรงช่วงเวลาที่ใช้คลองด่าน คลองสนามชัย และคลองหัวกระบือเป็นเส้นทางเข้าสู่ทะเลเมื่อใดนั้น ยังคงต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไป ความ เห็นของอาจารย์ทิวา ศุภจรรยา สอดคล้องกับแผนที่กรุงศรีอยุธยาที่ยุโรปเขียนขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จ พระเจ้าปราสาททอง และคัดลอกกันต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ดังได้มีพิมพ์รวมอยู่ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ แผนที่กรุงศรีอยุธยาของลาลูแบร์ระบุเส้นทางคลองด่านเชื่อมโยงแม่น้ำเจ้า พระยาที่บางกอกกับปากแม่น้ำท่าจีนไว้เป็นเส้นเดียวกัน แล้วพยายามที่จะบอกตำบลบ้านที่อยู่บนเส้นทางคลองด่านนี้ด้วยอักษรโรมันว่า BANGUEBEUZ/BANGUEBEUXซึ่งดูเหมือนจะใกล้เคียงกับชื่อย่าน “หัวกระบือ” มากที่สุด ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้จริงแล้วก็หมายความว่าคลองหัวกระบือก็คือคลองเดียวกับ คลองด่านนั่นเอง
ต่อมาภายหลังเมื่อมีการขุดคลองลัดโคกขามในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือและ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงทำให้คลองหัวกระบือเป็นเส้นทางสาขาที่แยกออกไปต่าง หาก นอกจากนี้แล้วซากศิลปกรรมที่วัดศีรษะกระบือซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในคลองหัว กระบือทุกวันนี้อันถือได้ว่านอกเส้นทางคลองด่านนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ทำขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยิ่งชวนให้เชื่อถือว่าก่อนหน้า นี้จะมีคลองลัดโคกขามนั้น การเดินทางเรือจะต้องใช้เส้นเก่าที่ผ่านเข้าไปทางคลองหัวกระบือ เกี่ยวกับซากศิลปกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ที่วัดศีรษะกระบือนั้น มีบันทึกอยู่ในหนังสือชุดจิตรกรรมฝาผนังประเทศไทยเรื่อง “จิตรกรรมสมัยอยุธยาจากสมุดข่อย” (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ: พฤษภาคม ๒๕๒๘) โดยสรุปว่า หลักฐานโบราณคดีที่ยังเหลือพอจะกำหนดอายุของวัดได้ มีเพียงเสมา เจดีย์ และสมุดข่อย
เสมา เป็นหินทรายสีแดง มีขนาดเล็กอย่างเสมาในตระกูลอัมพวา (ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม) เป็นใบเสมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย
เจดีย์ เป็นเจดีย์คู่ด้านหน้าโบสถ์ แข้งสิงห์ยาวมาก จึงน่าจะเป็นแบบ อยุธยาเช่นกัน
สมุดข่อย มีจารึกบอกศักราชว่าจารขึ้นในปี พ.ศ.๒๒๘๖ ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายประมาณ ๒๔ ปี ทั้งเส้นสายและการวางองค์ประกอบภาพทำให้สันนิษฐานได้ว่าเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
เกี่ยวกับสมุดข่อยที่วัดศีรษะกระบือนี้ น. ณ ปากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะในประเทศไทยเคยเสนอบทความเชิงคำนำเสนอไว้ในหนังสือ “จิตรกรรมสมัยอยุธยาในสมุดข่อย” เอาไว้แล้วอย่างละเอียด ดังจะขอนำมาบันทึกไว้ให้แพร่หลายอีกดังต่อไปนี้ ภาพเขียนจากสมุดข่อยที่วัดศีรษะกระบือนั้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกับภาพเขียนบนสมุดข่อยทั้งหลายที่เขียนในหนังสือพระธรรมกับมรภาพระบาย สีปิดทองเป็นตัวประกอบ อันเริ่มมีสมัยอยุธยาเป็นต้นมาหรือบางทีอาจจะเก่าแก่ขึ้นไปกว่านั้นก็ได้เรา ยังไม่อาจจะชี้ลงไปให้เด็ดขาดว่าการทำสมุดกระดาษข่อยของเรามีมาแต่สมัยไหน รู้แต่ว่าถ้าเป็นการเทศนาโดยปกติท่านจะเทศน์จากใบลานที่จารด้วยเหล็กแหลม แล้วทาด้วยเขม่าหรือไม่ก็ลงรัก สมุดข่อยของคนไทยนอกจากจะเป็นพระธรรมคัมภีร์ ยังใช้ทำเป็นตำรับตำราต่าง ๆ เช่น วิชาโหรศาสตร์ ตำรายา ใช้จดคาถาอาคมและอุปเทห์ต่าง ๆ รวมทั้งเป็นคัมภีร์ที่ต้องเขียนภาพประกอบ เช่นพระมาลัยและไตรภูมิ ตำราไตรภูมิกับพระมาลัยดูจะขึ้นชื่อลือชาที่สุด อย่างไตรภูมิพระร่วงนั้น ต้องใช้นายช่างจิตรกรทำการคัดลอกสืบทอดกันมา ตำราจึงไม่สูญหาย ไตรภูมิฉบับสุดท้ายที่มีชื่อเสียงมากคือ สมุดภาพไตรภูมิพระร่วงฉบับกรุงธนบุรี ที่พระมหาช่วย วัดกลางวรวิหารจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้จารซึ่งเรียกว่าฉบับหอสมุดแห่งชาติ กับไตรภูมิพระร่วงฉบับพิพิธภัณฑ์เบอร์ลินประเทศเยอรมัน ซึ่งน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน หรืออาจจะเป็นฉบับอยุธยาก็ได้ ด้วยในภาพมารพจญยังมีภาพทหารฝรั่งกำลังรากปืนใหญ่เข้ามาสัปปะยุทธ์ กับพระบรมศาสดา นายช่างจิตรกรเห็นว่าทหารฝรั่งเป็นพวกคริสต์ศาสนิกชน อันเป็นปรปักษ์กับศาสนาพุทธของตนจึงจัดประเภทให้เป็นมารไปเสียเลย ในนั้นยังมีรูปจีนแบบสุกรด้วย นั่นก็เพราะคนจีนนับถือผี มีการฆ่าสุกรเซ่นไหว้ภูตผี ก็เลยจัดให้เป็นมารไปด้วยอยู่ในฝ่ายมิจฉาทิฐิ ถ้าเทียบภาพเขียนในสมัยอยุธยา อันปรากฏที่พนังพระอุโบสถจำนวนมาก กับภาพเขียนในสมัยอยุธยาในพระบฏ หรือเขียนบนแผ่นสมุดข่อย เรามีสมุดข่อยที่ขึ้นชื่อลือชาฉบับกรุงธนบุรี เช่น ไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิพระร่วงฉบับหอสมุดแห่งชาติดังกล่าวเพียงฉบับเดียว ที่พอจะอ้างอิงได้ ส่วนฉบับอื่นที่แม้จะเชื่อว่าเขียนในสมัยอยุธยาก็หามีศักราชอ้างอิงไว้ไม่ นอกจากสมุดข่อยจากวัดศีรษะกระบือเท่านั้น ในสมุดข่อยวัดศีรษะกระบือ มีจารึกศักราชบ่งว่า พ.ศ.๒๒๘๖ อันตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกถึง ๒๔ ปีนับว่าเป็นจิตรกรรมบนสมุดข่อยสมัยอยุธยาที่บอกอายุไว้อย่างชัดแจ้ง ลักษณะสมุดข่อยวัดศีรษะกระบือ โดยทั่วไปแล้วขนาดกับกระดาษข่อยก็เป็นลักษณะเดียวกับสมุดข่อยสมัยรัตน โกสินทร์ กระดาษข่อยสีขาวนั้นก็มิได้มัวหรือออกสีเหลืองมากแต่อย่างใด เมื่อระบายด้วยสีบาง ๆ แบบสีน้ำตามเทคนิคการระบายสีของสมัยอยุธยาแล้ว ก็ทำให้ดูสีสดใสมาก ปกหลังและปกหน้าของสมุดลงรักดำเขียนลายประจำยามชนิดลายก้ามปู ตรงกลางเป็นรูปกลมสลับกับรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนอย่างใหญ่ ตัวกนกสะบัดปลายเป็นกนกเปลวมีกรอบเป็นเส้นตรง ๔ ด้าน เมื่อ เทียบกับภาพเขียนสมัยอยุธยาที่วัดช่องนนทรี กรุงเทพฯ หรือผนังที่อุโบสถวัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรีแล้ว จิตรกรรมจากทั้ง ๒ แห่งนี้มีลักษณะคล้ายกันมาก คือทารองพื้นสีขาว ศิลปินผู้เขียนจะเขียนเส้นอย่างอิสระ(free hand) และใส่สีขาวเมื่อต้องการให้เป็นสีอ่อนมากหรือกลาง ๆ อันเป็นวิธีการของสีฝุ่นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ภาพเขียนในสมุดข่อยที่วัดศีรษะกระบือมีลักษณะพิเศษผิดกับภาพเขียนบนฝา ผนัง ๒ แห่งดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือใช้สีสดใสกับมีสีสด ๆ ใช้เพิ่มมากกว่าสีในภาพผนัง สีที่สะดุดตาก็คือสีเหลืองเช่น สีพื้นและสีนกเป็นสีเหลืองแบบ(lemon yellow) การระบายสีพื้นก็อ่อน เช่น รูปนกบนโขดหิน ๒ ตัว กำลังเดินเหยาะย่างไปมา เขาระบายสีพื้นด้วยสีแดงอ่อนแต่บางตอนก็เป็นสีส้ม พอผ่านโขดหินก็เอาสีน้ำตาลเหลืองระบายลงบนโขดหินมีสีน้ำเงินจาง ๆ ผสมกับน้ำตาลอ่อน และยังมีสีแดงอ่อนส่วนตัวนกกับกวางที่ระบายสีสดใสเขาตัดเส้นด้วยสีดำ ดูเด่นออกมาอย่างไม่รู้สึก ดอกไม้ที่ต้นสีขาวแก่ตัดเส้นด้วยสีแดง ดูรวม ๆ แล้วสีงามซึ้งและผสานกลมกลืนกันมาก เป็นเทคนิคการเขียนสีน้ำที่สะอาดตามาก และดูทันสมัย แม้ปัจจุบันก็ไม่มีใครทำเทคนิคได้ ถึงส่วนรูปเทวดาผู้ทรงมเหสักข์นั้นเล่า ดอกไม้อันมีกิ่งก้านจากมือประนมดูลอยกระจะเด่นเต็มไปทั้งเนื้อที่ มีดอกตูมกับใบแซมบนพื้นสีแดงแสดอันฉ่ำ สดใสยิ่งนัก ภาพเขียนจากสมุดข่อยวัดศีรษะกระบือนั้น จักว่าทรงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ทางศิลปะยิ่งนัก
ลำดับเจ้าอาวาสวัดหัวกระบือ
๑. พระอาจารย์แดง ๒. พระอาจารย์จวน
๓. พระอาจารย์รุ่ง ๔. พระอาจารย์ทัด
๕. พระอาจารย์เคลือบ ๖. พระอาจารย์สังข์
๗. พระอาจารย์เลิศ ๘. พระอาจารย์ชุม
๙. พระอาจารย์ใจ ๑๐. พระอาจารย์ถม
๑๑. พระครูวิบูลพัฒนกิตติ์( สละ กตปุญโญ)
ตั้งแต่ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
//* วัดหัวกระบือ เอง นะ !!!
ตอบลบ