พันท้ายนรสิงห์
พันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้ายเรือในสมัยพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พ.ศ. 2246 – 2251) วันหนึ่งพระเจ้าเสือได้เสด็จประพาสต้นด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย มาตาม คลองโคกขาม โดยมีพันท้ายนรสิงห์ เป็นนายท้ายเรือ คลองนี้คดเคี้ยวและน้ำเชี่ยวมากไม่สามารถบังคับทิศทางเรือได้ ทำให้หัวเรือชนเข้ากับต้นไม้จนหัวเรือหัก พันท้ายนรสิงห์จึงขอให้พระเจ้าเสือประหารตน
พระเจ้าเสือจึงให้ประหารตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ แล้วจัดทำศาลขึ้นพลีกรรมพร้อมทั้งหัวเรือ ซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล แต่ตามเกร็ดเล่าว่า พันท้ายนรสิงห์ทราบว่าจะมีพวกกบฏมาดักทำร้ายพระเจ้าเสือ เลยจำเป็นต้องทำให้หัวเรือหักเพื่อมิให้ไปถึงจุดที่กบฏวางแผนเอาไว้ โดยยอมให้ตนเองถูกประหารเพราะเป็นกฎมณเฑียรบาลที่ทำหัวเรือพระที่นั่งหักจะต้องถูกประหาร เมื่อพระเจ้าเสือทรงทราบจึงได้ให้บันทึกไว้ในพงศาวดาร และให้ตั้งศาลขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ถ้าเรื่องตามละครพระเจ้าเสือไม่ยอมประหารแต่ให้ปั้นรูปปั้นแล้วทำการตัดหัวรูปปั้นแทน แต่พันท้ายนรสิงห์ไม่ยอมเพราะจะเป็นการขัดมณเฑียรบาลจึงขอให้ประหาร มิให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่ก่อนที่จะประหารพันท้ายนรสิงห์ซึ่งบ้านน่าจะอยู่ใกล้ ๆ แถวนั้นได้กลับบ้านไปล่ำลาภรรยา และพันท้ายนรสิงห์จึงถูกประหารในวันเดียวกัน
ภายหลังพระเจ้าเสือได้ทรงให้พระยาราชสงคราม คุมไพร่พลจำนวน 3000 คน ทำการขุดคลองลัดคลองโคกขามที่คดเคี้ยว ไปออกที่บริเวณแม่น้ำท่าจีน กว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก สร้างเสร็จในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. 2252 ได้พระราชทานนามคลองนี้ว่าคลองสนามไชย ต่อมาเรียกเป็นคลองมหาชัย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองมหาชัย แต่ชาวบ้านเรียกว่าคลองถ่าน ปัจจุบันชาวบ้านฝั่งธนบุรี เรียกชื่อว่า คลองด่าน
เรื่องจากพระราชพงศาวดาร
พันท้ายนรสิงห์ เมื่อปี พ.ศ. 2247 สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกชัย จะไปประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำ เมืองสาครบุรี เมื่อเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขามซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยวและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งถือท้ายเรือ พระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบกับกิ่งไม้หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงได้กระโดดขึ้นฝั่งแล้ว กราบทูลให้ทรงลงพระอาญา ตามพระกำหนดถึงสามครั้งด้วยกัน เนื่องจากในสองครั้งแรก สมเด็จพระเจ้าเสือทรง พระราชทานอภัยโทษ เพราะเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุ สุดวิสัย แต่ท้ายสุดก็ได้ตรัสสั่งให้ ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอ แล้วสร้างศาลไม้ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นศาลไม้ในสมัยปัจจุบัน หลังคามุงกระเบื้องดินเผาหางมน พื้นศาลเป็นไม้ยกชั้น 2 ชั้น มีเสารองรับ 6 เสา ฝาไม้ลูกประกนขนาดเล็ก
โบราณสถานของชาติศาลพันท้ายนรสิงห์ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2498 กรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดสร้างศาลพันท้ายนรสิงห์ขึ้น อยู่ถัดจากศาลเก่าที่พังลงมาไม่มากนัก โดยกันอาณาบริเวณรอบๆ ศาลไว้ประมาณ 100 ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็น "อุทยานพันท้ายนรสิงห์" ภายในศาลมีรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์ขนาดเท่าของจริงในท่าถือท้ายคัดเรือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น